วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความเชื่ออันตราย สมุนไพร แม่ และเด็กอ่อน


วันนี้มีข้อควรระวัง หรือจะเรียกว่าคำเตือนก็ได้สำหรับผู้หญิงที่พึ่งคลอดลูกหรืออยู่ในช่วงกำลังให้นมเกี่ยวกับการทานยาสมุนไพร



มี 2 เหตุการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการที่แฟนพึ่งคลอดลูก

ต้องขอเท้าความถึงชาติกำเนิดก่อนว่าผมเป็นลูกคนจีนแท้ ๆ
ส่วนแฟนเป็นคนภาคเหนือมาจากจังหวัดตาก
สองฝั่งนี้ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรของตัวเองนะครับ

เหตุการณ์ที่ 1

วันที่คลอดลูก 2-3 วันแรกผู้หญิงทุกคนน้ำนมจะยังไม่ไหลหรือไหลน้อยมาก พยาบาลจะให้ลูกดูดนมกระตุ้นคุณแม่มือใหม่ พร้อมกับหยอดนมชงให้เด็กไปด้วย  ทีนี้แม่ผมฝั่งคนจีนแน่นอนหละว่าเค้าเชื่อเรื่องสมุนไพรมาก ได้สูตรมาจากอาม่าอีกที ก็จัดแจงต้มยาสมุนไพรมาให้แฟนทาน โดยสรรพคุณที่เค้าเชื่อคือ
1. เร่งน้ำนม
2. ขับน้ำคาวปลา
โดยตัวสมุนไพรหลัก ๆ ที่ใช้คือ เก๋ากี้และตังกุยเถ่า (หัวตังกุย) ต้มพร้อมกับไข่ไก่
ปรากฎว่าดื่มไปวันที่ 2 แฟนเริ่มมีลิ่มเลือดออกมากับน้ำคาวปลามากเกินไป ทั้ง ๆ ที่วันแรกน้ำคาวปลายังไม่มีเลือดมากเท่าวันที่ 2 ก็เลยเริ่มเอะใจเริ่มหาข้อมูลของสมุนไพร
สิ่งที่หามาได้มีคำสำคัญอยู่คำหนึ่งคือคำว่า Phytoestrogen
ในตังกุย, น้ำมะพร้าว และสมุนไพรสำหรับสตรีอื่น ๆ จะมีสารที่ชื่อว่า Phytoestrogen นี้เป็นสารสำคัญ โดย Phyto แปลว่า พืช, Estrogen คือฮอร์โมนเพศหญิงที่เร่งการสร้าง Endomotrium (เยื่อบุโพรงมดลูก) เหมาะกับหญิงที่ประจำเดือนไม่มา หรือมาไม่ปกติ ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกทำหน้าที่รองรับตัวอ่อนที่จะมาฝังตัวจะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก ถ้าไม่มีตัวอ่อนฝังก็จะหลุดกลายเป็นประจำเดือนของผู้หญิง
Phytoestrogen จึงแปลว่า ฮอร์โมน Estrogen ที่สร้างโดยพืชนั่นเอง
แต่สำหรับหญิงหลังคลอด เค้าต้องการที่จะขับเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ออก ไม่ใช่สร้างเพิ่ม

สำหรับแฟนที่กินสมุนไพรเข้าไปเลยมีอาการที่ว่า Phytoestrogen นี่ไปสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก แต่ร่างกายดันขับออก เกิดเป็นลิ่มเลือดออกมากับน้ำคาวปลา
ถามว่าเป็นอะไรมั้ย ถ้ายังคงทานต่อไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับต้องถ่ายเลือดทิ้งไปเรื่อย ๆ นั่นแหละครับ สุดท้ายจะเกิดอาการตกเลือด เลือดน้อย ความดันต่ำ อาจถึงเสียชีวิตได้ เรียกได้ว่าอันตรายสำหรับผู้หญิงมาก
จากนั้นก็ให้แฟนเลิกกิน อธิบายให้แม่ฟังว่าทำไมถึงไม่ควรให้ทานสมุนไพร เค้าก็เข้าใจเชื่อเรา เพราะเราเรียนชีวะมา สุดท้ายพาแฟนออกจากโรงพยาบาลได้ปกติ เลี้ยงน้องมีความสุขดี ไม่ค่อยงอแง

เหตุการณ์ที่ 2

เป็นเหตุการณ์ที่แม่ยายและครอบครัวของแฟนเดินทางมาเยี่ยมแฟนและหลาน ผมเองต้องไปเรียนโท กลับบ้านมาก็มืดเลยไม่รู้เรื่องอะไร ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้น น้องร้องไห้งอแงทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่ปกติไม่เคยงอแงเลย ก็พยายามอุ้มเดิน อะไรต่าง ๆ นา ๆ จนกระทั่งหลับ ทั้งวันผมก็ไม่รู้เรื่องอะไร จนกระทั่งดึกแม่ผมมาบอกว่าแม่ยายต้มน้ำสมุนไพรมาให้แฟนทาน 
สมุนไพรนั้นก็คือ ไพล
ทีนี้แม่ผมหาข้อมูลเองเลยหลังจากเหตุการณ์แรกไป เพราะเค้าก็กลัวเกิดอะไรกับน้อง ปรากฎว่าข้อมูลที่ได้คือ
ไพล มีฤทธิ์เร่งเลือดลม ขับโลหิต ขับพิษ มีรสเผ็ดร้อน และที่สำคัญคือเค้าเตือนไว้ชัดเจนว่าหญิงให้นมบุตรไม่ควรทาน และถ้าทานติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ตับวายได้ (เพราะพิษจะถูกขับทางตับ)
เท่านั้นแหละ ผมเดินไปจับหน้าผากน้องถึงว่ารู้ว่าตัวร้อน ถามแฟนก็บอกว่ารู้สึกร้อนวูบวาบตลอดทั้งวัน เท่านั้นแหละชัดเจนมาก แฟนผมถึงกับร้องไห้กลัวว่าลูกจะเป็นอะไร นั่งเฝ้าเช็ดตัวน้องทั้งคืน วันต่อมาก็ให้น้องกินแค่นมชง ยังไม่ให้ดูดนมแม่ ปรากฎว่าดีขึ้น ตัวไม่ร้อน และไม่ร้องงอแง ส่วนแฟนให้ดื่มน้ำมาก ๆ และให้ปั๊มนมทิ้งเรื่อย ๆ จนกระทั่งตอนเย็นถึงให้น้องดูดนมแม่ได้

จาก 2 เหตุการณ์นี้

จะจำไปจนตายเลยว่าถ้าจะทานสมุนไพรอะไร ต้องศึกษาข้อมูลให้หนักก่อนเลย คุณมีอนันต์ โทษก็มีมหันต์ได้เช่นกัน

ปล. เกร็ดความรู้เพิ่มอีกนิด แฟนคลอดธรรมชาติ ตอนอยู่โรงพยาบาลแฟนถามเรื่องอยู่ไฟกับหมอ (แฟนจบเป็นพยาบาล) หมอถึงกับพูดว่า ถอนใบปริญญาซะดีมั้ย ตอนเรียนพยาบาลไม่รู้เลยหรอว่าการอยู่ไฟจะทำให้แผล Burnt (เบิร์น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าคล้ายอาการไฟลวก) ถ้าอยากให้แผลแห้งเร็วแค่เอาโคมไฟแบบหลอดไส้เปิดส่องให้มันอุ่น ๆ ที่แผลแค่นั้นแผลก็แห้งเร็วแล้ว

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สบู่แบบใหม่ ไม่ใช้โซดาไฟในการผลิต (จริงดิ!!!)

สงกรานต์ผ่านไป เลยมีเรื่องมาเล่า หุหุ
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ไปเที่ยวเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในไทย และได้มีโอกาสแวะฟาร์มแพะแบ๊ะแบ๊ะแห่งหนึ่งน่ารักมาก ก็เล่นกะแพะ ดูวิธีรีดนมนู่นนี่นั่นไป(ซึ่งไม่ใช่ประเด็นของเรื่องที่จะพูด) จนมาถึงกระบวนการสุดท้าย นั่นคือซื้อของกลับบ้าน มีนมแพะ โยเกิร์ตนมแพะ และสบู่ก้อนนมแพะไร้โซดาไฟ

ฮะ อะไรนะ

"สบู่ก้อนนมแพะไร้โซดาไฟ ไม่ได้ใช้โซดาไฟในกระบวนการผลิต" เพราะสบู่เหลวจะใช้โซดาไฟในการผลิตนะ!!

เราก็งง เรียนเคมีอ. ... ตอนม.5 มา เค้าบอกว่าสบู่ใช้โซดาไฟเป็นสารตั้งต้น แต่นี่มาใหม่ ไม่ใช้โซดาไฟเว้ยเฮ้ย
ตอนแรกก็กะจะถามว่าใช้สารเบสอะไรอย่างอื่นหรอครับ หรือมีวิธีผลิตแบบอื่นแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถาม กลัวถามมากเค้าจะเอานมแพะมาตบหน้าเอา เลยจำกลับมาหาข้อมูลเงียบๆคนเดียว T^T

เอาเป็นว่าเอาข้อมูลทางวิชาการเบื้องต้นก่อนแล้วกัน
การทำสบู่ง่ายๆเนี่ย คือเอาสารละลายโซดาไฟ (NaOH) ผสมกับไขมัน(น้ำมันหมู น้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์มใช้ได้หมด แต่เนื้อสบู่อาจออกมาต่างกันเล็กน้อย) อุ่นด้วยกัน กวนๆซักพักจะได้สบู่ แล้วปล่อยมันทิ้งไว้ซักเดือนให้อยู่ตัว ให้สบู่อยู่ตัวก็เอามาใช้เป็นสบู่แบบง่ายๆได้ แต่ถ้าอุตสาหกรรมก็จะเติมสารอื่นบำรุงผิว เสริมความชุ่มชื่น แต่งกลิ่น กันเสีย บลาๆๆ อะไรก็ว่าไป

NaOH(โซดาไฟ) + triglyceride(ไขมัน, น้ำมัน) > soap(สบู่) + glycerol(บางคนเรียก glycerin)
หน้าตาโซดาไฟ (มักขายเป็นเกล็ดแผ่นๆ)
http://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hydroxide

(ถ้าอยากได้สบู่เหลวให้ใช้ KOH แทน NaOH)
ง่ายมะ

แต่ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า

โซดาไฟเนี่ย มีฤทธิ์เป็นเบสแก่ ถ้ามีความเข้มข้นพอประมาณจะมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อได้หละ
คนทั่วไปมักจะคุ้นว่าเอามาเทใส่ส้วมตัน!!!!!!!
เฮ่ย มันฟังดูอันตรายอะ อันตรายมากด้วย กด VDO ดูได้หละ

ทีนี้มาแนวชาวบ้านกันบ้าง ทำง่ายกว่านี้อีก แถมไม่มีโซดาไฟเป็นส่วนผสมด้วย

คือเอาเกล็ดสบู่ผสมกลีเซอรีน ใส่ขมิ้น, มะขามเปียก หรืออื่นๆ ตามสูตร ตั้งไฟอ่อนๆกวนทิ้งไว้แป๊บแล้วรอไม่ถึงชั่วโมงให้มันแข็งก็ได้สบู่มาใช้ละ
ง่ายกว่าอีวิธีข้างบนอีก!!!!!
เชดด สุดยอดนวัตกรรม รวดเร็ว แถมไม่มีอันตรายจากโซดาไฟอีกด้วย

หรอออออออออออออออออออ

จากที่เขียนมา มันมีคำๆนึงที่มีไม่เหมือนตามวิชาการนั่นคือคำว่า "เกล็ดสบู่" 
เฮ่ย เค้าใช้เกล็ดสบู่แทนโซดาไฟอะ เค้าเลยบอกสบู่ไม่มีโซดาไฟ
เกล็ดสบู่
http://www.zippysoap.com/product/290/

จะบ้าหรอ มันไม่ใช่แบบนั้นนะครับ

ไอ้คำว่าเกล็ดสบู่ที่เค้าเอามาใช้นั่นหนะ มันคือสบู่ที่ได้จากการเอาโซดาไฟผสมกับน้ำมันรอ1เดือนโดยที่ยังไม่ได้ใส่สารเคมีอย่างอื่นเพิ่มนั่นแหละคร้าบ มันคือสบู่แบบที่ง่ายที่สุดที่โลกมีเอามาขายให้ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็เอาสบู่นั้นมาตั้งไฟให้ละลายแล้วค่อยเอาสารบำรุงผิวมาใส่ แล้วรอให้แข็งอีกรอบนึงต่างหาก


soap(สบู่) >ผ่านความร้อน>ละลาย>สารบำรุงผิว>ปล่อยให้เย็น

สรุปสบู่นั่นก็มีจุดเริ่มต้นที่สุดเป็นโซดาไฟอยู่ดี แต่โซดาไฟนั้นทำปฏิกิริยากับไขมันจนกลายเป็นสบู่จนหมดแล้วนะ
เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าสบู่จะเป็นอันตรายต่อผิวหน้าอันแสนบอบบางของเรา ^^

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความเข้าใจผิด ยูริก ยูเรีย

ตอนเด็กๆ เราคงเคยเรียนกันมาบ้างว่า
สิ่งมีชีวิตมีการขับถ่ายของเสียออกมาในรูปแบบต่างๆกัน

สิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายและอาศัยอยู่ใต้น้ำมักจะขับถ่ายออกมาในรูปแบบแอมโมเนีย
เพราะสร้างได้ง่าย ละลายไปกับน้ำได้เลย

ส่วนสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาความซับซ้อนขึ้นมา จะต้องเก็บของเสียไว้ในร่างกายชั่วคราวก่อนก็จะเปลี่ยนรูปให้มีความเป็นพิษลดลง ก็จะขับถ่ายในรูปของ กรดยูริก หรือยูเรียตามลำดับความซับซ้อน
คุงครูก็เลยสรุปให้ฟังว่า

"มนุษย์เมื่อกินโปรตีนเข้าไปแล้ว ส่วนที่เป็นของเสียจากโปรตีนก็จะเปลี่ยนเป็นแอมโมเนีย แอมโมเนียก็จะถูกเปลี่ยนเป็น กรดยูริก และสุดท้ายกรดยูริกจะถูกเปลี่ยนเป็นยูเรีย เนื่องจากความเป็นพิษต่อร่างกายน้อยกว่า"

แต่เมื่อมาดู Pathway ทางชีวะเคมีแล้วมันไม่ใช่

http://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/6/64/Urea_cycle_1.png
จากรูปจะเห็นว่าร่างกายย่อยโปรตีนและได้ของเสียคือแอมโมเนีย (NH3) ซึ่งจะจับกับ CO2 และฟอสเฟต ผ่านเอนไซม์ Carbamoyl Phosphate Synthase จึงเกิดเป็น Carbamoyl Phosphate ไม่ใช่กรดยูริก 
(กรดยูริกเกิดจากแอมโมเนีย 2 โมเลกุลจับกับ CO2 กลายเป็น (NH2)2CO)
แล้ว Carbamoyl Phosphate ก็เข้า Urea Cycle เพื่อสร้างสร้างยูเรียต่อไป
สรุปคร่าวๆ คือ ย่อยโปรตีน ได้แอมโมเนีย แล้วเปลี่ยนเป็น Carbamoyl Phosphate แล้วเปลี่ยนเป็นยูเรีย

ส่วนกรดยูริกนั้น มาจากไหน คนเป็นโรคเก๊าท์ เกิดจากกรดยูริกไม่ใช่หรอ แต่ทำไมในนี้ไม่มีกรดยูริกหละ

คำตอบคือ ร่างกายเราก็สร้างกรดยูริกเช่นกัน แต่ไม่ได้มีสารตั้งต้นเป็นโปรตีน
มาดูรูปกัน
http://themedicalbiochemistrypage.org/images/purinecatabolism.jpg
จากรูปจะเห็นว่าสารตั้งต้นเป็นสารกลุ่ม Nucleic acid (พวกสารพันธุกรรม) แล้วถูกย่อยสลายผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้ Xanthine แล้วเปลี่ยนเป็น Uric acid
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันกับการเกิดยูเรียเลย
ปกติกรดยูริกจะถูกขับออกโดยไตละลายไปกับปัสสาวะได้บางส่วน (บางส่วนจะถูกดูดกลับเข้ากระแสเลือด) เพราะฉะนั้นยิ่งมีกรดยูริกมาก ยิ่งมีโอกาสถูกดูดกลับเข้ากระแสเลือดมาก ซึ่งทำให้คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคเก๊าท์สูง

ที่เป็นแบบนี้เพราะสัตว์กลุ่ม Higher Primate โดยเฉพาะพวก Ape (ลิงไร้หาง) ไม่มีเอนไซม์ Urate Oxidase ที่จะเปลี่ยนกรดยูริกให้เป็นรูปอื่นต่อ
ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมี จึงไม่เจอปัญหาโรคเก๊าท์แบบมนุษย์

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปะ ปะ ปะ ปลาาาา (โดรี่)

วันนี้เห็นคนนั่งเถียงกันระหว่างมื้ออาหาร
เรื่อง
ปลาโดรี่

(ความคิดผมคือ แดกๆ ไปเหอะถ้ามันอร่อย)


เรื่องมีอยู่ว่า คนนึงสั่งปลาโดรี่มากิน
อีกคนนึงก็เบะหน้าใส่ "เฮอะ โดนหลอกแล้ว"

ก็งงสิครับ กินปลาเขาบอกว่าจะฉลาด แต่กินแล้วบอกกูโดนหลอก อ่าว ยังไง แถลงไขให้ฟังหน่อย

เขาก็บอกว่าปลาโดรี่เนี่ย ความจริงมันเป็นปลาสวาย มาจากประเทศเวียดนาม
แต่เวียดนามเขาเลี้ยงดี เลยได้เนื้อปลาสีขาวนวลกว่าปลาสวายบ้านเรา

นี่มึงแดกปลาสวายอยู่นะรู้มั้ยยย
(บล็อกนี้เริ่มเหมือนดราม่าแอดดิคขึ้นทุกวันละ =.=")

กลับมาเลยลองหาข้อมูลดู ได้ความมาว่า

ปลาดอรี่จริงๆ เขาจะเรียกว่า Pacific Dory จะมีหน้าตาหน้าเกลียดหน้าชังแบบนี้



สายพันธุ์ที่นิยมบริโภคคือ John Dory เนื้อขาว เนียนนุ่ม เขาว่ารสชาติคล้ายเนย นุ่มละมุนลิ้นราวกับละลายในปากได้

Pacific Dory นี้เป็นปลาทะเลอยู่ในแถบน้ำเย็น กระจายอยู่ทั่วโลก

แต่ปลาโดรี่ที่กินในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ Pacific Dory
แต่มันอยู่ในสกุล ปลาสวาย Pangasius
ปลาสวายจะอาศัยอยู่ในน้ำจืด หน้าตาน่ารักกว่าโดรี่ตัวจริงเยอะ พุงป่องๆ หัวเล็กๆ แบบนี้

แต่ปกติแล้วปลาสวายถึงเนื้อจะนุ่มคล้ายกัน แต่สีไม่ขาวใสแบบปลาโดรี่
แต่ในเวียดนามเขาจะมีวิธีเลี้ยงให้เนื้อขาวใส น่าหม่ำ
จนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามไปแล้ว

แต่เวลาขายเขาก็ไม่ได้หลอกนะ
เขาระบุชัดเจนว่าเป็น Pangasius Dory
คือเป็นปลาสวายที่เนื้อเหมือนปลาโดรี่

เขาระบุชัดนะโว้ย

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พืชลูกผสม พ่อแม่โครโมโซมไม่ตรงกัน แต่ผสมพันธุ์ได้ยังไง

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องการผสมข้ามสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิดมาบ้าง
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสัตว์ เช่น
ม้าล่อกับม้า ก็ได้ม้า
ลาล่อกับลาได้ลา
ม้าล่อกับลาก็ได้ล่อ
ลาล่อกับม้าได้ล่อ
ล่อล่อกับล่อ ดั๊นนน ไม่ได้ล่อ
คือแค่ได้ล่อเฉยๆ แต่ไม่ได้ลูกล่อ
งงหละสิ 555

เอ้า อย่าพึ่ง งง

คือปกติสิ่งมีชีวิตก็สามารถผสมพันธุ์ กับตัวที่เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ถึงจะมีลูกได้
แต่ถ้าเกิดเป็นต่างสายพันธุ์แล้ว ผสมยังไงก็ไม่มีลูก หรือถ้ามีลูก ลูกก็จะเป็นหมัน
อย่างเรื่องของม้า ลา และล่อ ที่อ่านไปแล้ว
หรือตัวอย่างอื่นเช่น สิงโตและเสือ ผสมกันแล้วได้ไลเกอร์ (lion+tiger » liger) แต่ไลเกอร์นี่มันจะเป็นหมัน เอาไปผสมพันธุ์ต่อไม่ได้
พวกลูกผสมนี้เราเรียกว่า hybrid เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะโครโมโซมใกล้เคียงกันมากๆ มาผสมกัน ก็ผสมได้แ ต่เนื่องจากโครโมโซมมันไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ จึงทำให้เกิดปัญหาตอนสร้างเซลล์สืบพันธุในรุ่นลูก ลูกผสมจึงเป็นหมัน
แต่สำหรับพืช คงเห็นชาวบ้านชาวสวนจับผสมข้ามสายพันธุ์กันเฮฮาปาร์ตี้

อ่าวไหงเป็นงั้นหละ???

ในการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ สมมติ
ตัวที่  1 มีโครโมโซม AABBCC   ตัวที่ 2 มีโครโมโซม AACCDD
เซลล์สืบพันธุ์ตัวที่1มี ABC ตัวที่2 มีACD
ดังนั้นลูกจะมีโครโมโซม AABCCD ในสิ่งมีชีวิตทั่วไปก็เลยจะมีปัญหาในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของลูกคือตอนที่ meiosis จะต้องมีการจับคู่โครโมโซมคู่เหมือน(ระยะ zygotene) ซึ่ง B D จับไม่ได ก็เลย meiosis ไม่ได้

แต่ในพืชมันไฮโซกว่านั้น
มี AABCCD ใช่มั้ย
จับคู่ไม่ได้ใช่มั้ย
ก็สร้างคู่ให้มันจับซะ
วิธีการสร้างคู่ก็ง่ายๆ
คูณ2 ทั้งสมการขอรับ
AABCCD » AAAABBCCCCDD
ได้คู่เรียบร้อย โคตรคู่เลย
พอจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ก็เลยสร้างได้ตามปกติ

แถมบางครั้งได้ประโยชน์เพิ่มด้วย
เช่นถ้า บนโครโมโซมA มียีนคุมให้ผลมีขนาดใหญ่
พืช AA ก็คือผลขนาดปกติ
แต่ถ้า AAAA หละ ผลก็จะใหญ่โตมโหฬารบานตะไทมไหสวรรค์
ถ้า C เป็นยีนให้เนื้อหวาน เนื้อก็จะหวานหยาดเยิ้มยิ่งกว่าน้ำผึ้งเดือน 5

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่พืชสามารถผสมข้ามสายพันธุ์ได้ด้วยประการฉะนี้
เอเมน

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จะสร้างตึกสูง รากฐานต้องแน่น เรียนชีวะให้เก่ง ต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง

เคยมีคนถามว่า
เรียนชีวะ ต้องเก่งวิชาอะไรมาก่อนมั้ย
"มึงต้องเก่งทุกวิชานั่นแหละ"
อันนี้ตอบในใจ 
"อ๋อ ไม่ต้องหรอก อาศัยอ่านเยอะๆ ทำความเข้าใจเยอะๆ เดี๋ยวก็เก่ง"
อันนี้ตอบจริงๆ พร้อมรอยยิ้มอันเป็นมิตร

พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตสามารถทำงานได้ด้วยปฏิกิริยาทางเคมีอันซับซ้อน สารพันธุกรรมถูกถอดรหัสโดยตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิต (ที่เราเรียกกันว่าเอนไซม์นั่นไง) ให้ออกมาเป็นก้อนโปรตีนหลายๆ ชนิดที่นำไปใช้ทำหน้าที่ต่างๆ นาๆ ในร่างกาย ถูกควบคุมผ่านฮอร์โมนซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็น ก้อนโปรตีน อนุพันธ์ของไขมัน (พวกสเตรอยด์) และอีกหลายๆชนิด 
โคเอนไซม์ โมเลกุลชีวภาพที่ช่วยให้เอนไซม์ทำงานได้ดีขึ้น
พูดง่ายๆคือ เคมีเป็นพื้นฐานของวิชาชีววิทยา

เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียนชีวะเก่ง ต้องเข้าใจ เคมี
แต่จะเข้าใจเคมี ต้องมีพื้นฐานของอะไรอีกหละ

เคมีประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญที่เล็กที่สุดคืออะตอม อะตอมเกิดจากอนุภาคสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดเล็กจิ๋วมายึดเหนี่ยว เกิดพันธะเข้าด้วยกัน เกิดการเคลื่อนที่ หมุน เกิดโมเมนตัม มีพลังงานขึ้นมา
เราจะอธิบายปรากฎการณ์เหล่านี้ เราก็ต้องใช้ความรู้ทางด้าน ฟิสิกส์ เข้ามาอีก

รูปลักษณ์ของอะตอมที่ประกอบด้วยอนุภาคแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดจิ๋ว

ฟิสิกส์ จะศึกษาได้ ก็ต้องคำนวณ สร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้เห็นภาพทางฟิสิกส์อีก

สมการฟิสิกส์ ที่ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สร้างเป็นโมเดลขึ้นมา

สรุปชีวะจะเรียนรู้เรื่องต้องมีพื้นฐานของวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งหมดนั่นแหละครับ
เลข ฟิสิกส์ เคมี
เพื่อเอามาอธิบายปรากฎการณ์ทางชีวภาพต่อไป